ไวรัสตับอักเสบบี


 

ไวรัสตับอักเสบบี ร้ายแรงกว่าที่คิด คุณอาจเป็นโดยไม่รู้ตัว


    ความผิดปกติต่อไปนี้ หากเกิดขึ้น พึงระวังไว้ว่า ‘ตับ’ กำลังป่วย! โดยสุขภาพจะส่งสัญญาณร้ายอันประกอบด้วย เจ็บแน่นที่ชายโครงขวา ท้องอืด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เท้าบวม ท้องมาร ตาเหลือง ตัวเหลือง ร่วมกับอาการซีด เมื่อมีเลือดออกจะหยุดยาก หากอาการเข้าขั้นรุนแรงจะมีรอยช้ำขึ้นตามตัว

    แม้จะสังเกตความผิดปกติของตับได้จากอาการข้างต้น แต่อาการจะปรากฏก็ต่อเมื่อตับอักเสบไปมากแล้ว ส่งผลให้การรักษาเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้น การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีคือวิธีที่ทำให้รู้ทันความผิดปกติของตับก่อนสายเกินแก้ 

    ตับ เป็นอวัยวะชิ้นใหญ่ที่สุดในร่างกาย ใหญ่กว่าสมอง มีน้ำหนัก 1-1.5 กิโลกรัม มีหน้าที่กำจัดของเสีย ขจัดสารเหลือง คอยสร้างโปรตีนให้ตับ สร้างน้ำตาล สำหรับสาเหตุที่ทำให้ตับอักเสบ เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ไขมันเกาะสะสมในตับ การรับประทานยาหรืออาหารเสริมมากเกินไป และการติดไวรัส ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ไวรัสที่ติดทางอาหาร อย่าง ไวรัสตับอักเสบเอ และอี ส่วนไวรัสที่ติดทางเลือด สิ่งคัดหลั่ง คือ ไวรัสตับอักเสบบี ซี และดี สำหรับไวรัสตับอักเสบที่ป่วยเป็นกันมากทั่วโลกคือ ไวรัสตับอักเสบชนิดบี 

รู้จักโรคตับอักเสบบี 

    ไวรัสตับอักเสบชนิดบี คือ การอักเสบของเซลล์ตับ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV) ทำให้เซลล์ตับตาย หากเป็นแล้วได้รับการรักษา พบว่ากว่าร้อยละ 90 หายเป็นปกติ แต่หากปล่อยไม่รีบรักษา อาการจะเรื้อรัง เกิดเป็นพังผืด ตับแข็ง และมะเร็งตับได้ในที่สุด และจากสถิติ ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ ร้อยละ 90 มีประวัติป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบแล้วทั้งนั้น

    ปัจจุบันมีประชากรไทยเกินกว่า 9 ล้านคนที่เป็นพาหะของโรคและสามารถแพร่เชื้อ ต่อไปได้เรื่อย ๆ และคุณอาจเป็น หนึ่งในผู้ที่ได้รับเชื้อจากผู้ที่เป็นพาหะเหล่านี้ ในขณะที่คุณไม่มีทางทราบ ได้เลยว่าใครบ้าง ที่เป็นโรคและใครบ้างที่เป็นพาหะ 


    ปัญหาสำคัญของโรคไวรัสตับอักเสบบี คือในช่วงแรก ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการแสดงเลย ในขณะที่การดำเนินของโรคเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยจึงไม่ได้ดูแลตนเองดีนัก และด้วยความที่ไม่รู้นี่เองที่ทำใหมีการแพร่เชื้อไปเรื่อยๆ อย่างไม่ตั้งใจ 

    วิธีที่มีประสิทธิภาพห่างไกลจากไวรัสตับอักเสบบี คือ การฉีดวัคซีนป้องกัน โดยก่อนจะฉีดวัคซีน คุณควรมีการตรวจเลือดเพื่อเช็กว่ามีเชื้อไวรัสหรือไม่ ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันโรคนี้แล้วหรือยัง นอกจากนี้คือ ระวังตัวเองจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ใช้ช้อนกลาง ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น

จะทราบได้อย่างไร ว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี?

โดยการตรวจเลือด เป็นวิธีที่ใช้กันโดยแพร่หลาย สะดวก และรวดเร็ว
 

เชื้อไวรัสตับอักเสบบีติดต่อกันทางไหนได้บ้าง

    1.การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน 
    2.การรับเลือดหรือ สารคัดหลั่งของร่างกายจากผู้เป็นพาหะ เช่น การใช้ของส่วนตัวร่วมกัน ได้แก่ แปรงสีฟัน เข็มฉีดยา มีดโกน
    3.ถ่ายทอดจากมารดาสู่บุตร กรณีนี้ มีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อได้ในระหว่างคลอด 

ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือ กับเชื้อไวรัสตับอักเสบคือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ทุกประการและเข้ารับการตรวจร่างกายจาก แพทย์อย่างสม่ำเสมอ

ประเภทของโรคไวรัสตับอักเสบบี

1.แบบเฉียบพลัน เป็นแล้วหายภายใน 6 เดือน
   เมื่อรับเชื้อไปแล้วราว 2 - 3 เดือน จะมีอาการเป็นไข้ เป็นหวัด ปวดเมื่อยตามตัว หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์จะมีอาการตับอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลือง ถ้าตรวจดูจะมีค่า การทำงานของตับสูงกว่าปกติ อาการพวกนี้จะดีขึ้นภายใน 2 - 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา และผู้ป่วยส่วนมาก จะไม่กลับมาเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีอีก แต่ถ้าภูมิคุ้มกันไม่สามารถ จัดการกับเชื้อไวรัสได้ ก็จะกลายเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดเรื้อรัง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับต่อไป

2.แบบเรื้อรัง เป็นนานกว่า 6 เดือน
   กลุ่มนี้มักได้รับเชื้อมาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทารกหรือวัยเด็ก โดยได้รับจากมารดาในช่วงหลังคลอด รวมทั้งได้รับเชื้อจากคนแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ภูมิคุ้มกันในวัยเด็กมัยยังไม่แช็งแรงดีพอ บวกกับยังดูแลตนเองได้ไม่ดีนัก เมื่อมีการเล่นกันในกลุ่มเด็กๆ เช่นที่โรงเรียน มักจะติดเชื้อโรคกันได้ง่าย

อาการเมื่อได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

   • อ่อนเพลียคล้ายเป็นหวัด
   • คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด
   • จุกแน่นใต้ชายโครงขวาจากตับโต
   • ปัสสาวะเข้ม ตาเหลือง

คำแนะนำในการดูแลตัวเองหากเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี เพื่อไม่ให้ลุกลามรุนแรงต่อไป

   • ไม่รับประทานยาพร่ำเพรื่อ ติดต่อกันเป็นเวลานานโดย ขาดความรู้ที่ถูกต้อง 
   • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย 
   • งดดื่มแอลกอฮอล 
   • ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะพบแพทย์ผู้ชำนาญการด้านตับเพื่อประเมินภาวะโรค ตรวจเช็กตับทุก 3-6 เดือน 
   • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 
   • พักผ่อนให้เพียงพอ 
   • ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างเสริมภูมิต้านทานโรค
 

สมัครรับข่าวสาร

อัพเดทข้อมูลข่าวสาร แพ็กเกจและโปรโมชั่น ส่งตรงถึงคุณเป็นคนแรก

Top